หน้าหลัก   ภาพถ่าย   ประวัติ   การศึกษา   แหล่งท่องเที่ยว   เรื่องทั่วไป


เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา
เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา


ตรัง
หรือเมืองทับเที่ยง ในอดีตเคยเป็นเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศ เป็นเมืองแรกที่มีต้นยางพารา โดยพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี นำพันธุ์มาจากมาเลเซียมาปลูกเป็นแห่งแรกของภาคใต้
เมื่อ พ.ศ. 2442 และถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ตรังมีแม่น้ำสำคัญ คือ แม่น้ำตรัง มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหลวง และแม่น้ำปะเหลียน ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด

ตรัง เป็นจังหวัดชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย มีฝั่งทะเลยาวทางด้านตะวันตก ประมาณ 119 กิโลเมตร ประกอบด้วยหมู่เกาะในทะเลอันดามันที่อยู่ในการปกครองกว่า 46 เกาะ ภายในพื้นที่อำเภอกันตัง 12 เกาะ อำเภอปะเหลียน 13 เกาะ และอำเภอสิเกา 21 เกาะ ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยว คือระหว่างเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤษภาคมของปี

ตรัง มีพื้นที่รวม 4,941 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอกันตัง อำเภอห้วยยอด อำเภอย่านตาขาว อำเภอปะเหลียน อำเภอสิเกา อำเภอวังวิเศษ อำเภอนาโยง อำเภอรัษฎา และอำเภอหาดสำราญ

เพลงประจำจังหวัด

เพลง เมืองตรัง

(สร้อย)

**เมืองตรังเมืองทองของไทย
อุดมสมบูรณ์นานา
ผู้คนหญิงชายชาวเมือง
สมเป็นเมืองท่าเมืองทองของไทย

ถิ่นใต้เคยได้ชื่อมา
สมเป็นเมืองท่าเมืองทองของไทย
รุ่งเรืองงามศิวิไล
เพลินใจเพลินตาน่าชมเมืองตรัง**
 
  ชาวตรังใจกว้างสร้างแต่ความดี
ศรีตรังเด่นงามตา
ทุกคนล้วนมีสามัคคีทั่วหน้า
เป็นศรีสง่าแก่เมืองตรัง (ร้องสร้อย)
     
  ชาวตรังตั้งหน้าพัฒนาบ้านเมือง
ตัวอย่างมีพระยารัษฎา
หวังให้รุ่งเรืองสมเป็นเมืองก้าวหน้า
เจ้าแห่งการพัฒนาสร้างเมืองตรัง (ร้องสร้อย)
     
  ชาวตรังตั้งจิตพิชิตศัตรูพาล
เลือดชะโลมทาแผ่นดิน
แม้นใครรุกรานจะประหารให้สิ้น
ปราบเสี้ยนหนามให้สิ้นแผ่นดินตรัง (ร้องสร้อย)


ข้อมูลทั่วไป

ลักษณะและสภาพโดยทั่วไป
    การปกครอง จังหวัดตรังแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอกันตัง อำเภอห้วยยอด อำเภอย่านตาขาว อำเภอปะเหลียน อำเภอสิเกา อำเภอวังวิเศษ อำเภอนาโยง อำเภอรัษฎา และ อำเภอหาดสำราญ รวมพื้นที่ 4,917 ตารางกิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ
 ทิศเหนือ          ติดต่อกับ อ.ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และอ.คลองท่อม จังหวัดกระบี่
 ทิศใต้              ติดต่อกับ อ.ทุ่งหว้า จังหวัดสตูล อ.รัตภูมิ จังหวัดสงขลา และช่องแคบมะละกาสมุทรอินเดีย
 ทิศตะวันออก   ติดต่อกับ อ.ควนขนุน อ.กงหรา อ.ตะโหมด จังหวัดพัทลุง โดยมีเทือกเขาบรรทัดกั้นอาณาเขตตลอดแนว
 ทิศตะวันตก     ติดต่อกับ อ.คลองท่อม อ.เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และมหาสมุทรอินเดีย

ลักษณะภูมิประเทศ
    สภาพพื้นที่เป็นเนินสูงๆ ต่ำๆ สลับด้วยเขาเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป พื้นที่ค่อนข้างราบเรียบมีจำนวนน้อยซึ่งใช้เพาะปลูกข้าว ทางทิศตะวันออกมีเทือกเขาบรรทัดยาวจากเหนือจดตอนใต้ และเป็นเส้นแบ่งเขตแดนจังหวัดตรังกับจังหวัดพัทลุง มีเนื้อที่ป่าเกือบร้อยละ 20 ของเนื้อที่จังหวัดส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แถบเทือกเขาบรรทัด ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้น มีป่าชายเลนสำหรับท้องที่ที่อยู่ติดชายทะเล และมีลำน้ำสำคัญๆ 3 สาย อันได้แก่ แม่น้ำตรัง ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเขาวังหีบ เทือกเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช แม่น้ำปะเหลียน เกิดจากเทือกเขาบรรทัด เขตอำเภอปะเหลียน คลองกะลาแสและต้นน้ำ ที่เกิดจากควนปลวกร้อน ควนชะไน และควนน้ำแดง ชายแดนตรัง กระบี่ นอกจากนี้ยังมีลำห้วยบริวารที่คอยส่งน้ำให้อีกกว่า 100 สาย ทั้งยังมีชายฝั่งด้านตะวันตก ติดทะเลอันดามันที่ยาวถึง 119 กม. กับเกาะต่างๆ กระจัดกระจาย อยู่กว่า 46 เกาะ และป่าชายเลนที่ยังคงอยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์

สภาพภูมิอากาศ
    จังหวัดตรังได้รับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม และลมมรสุม ตะวันตกเฉียงใต้ช่วง เดือนพฤษภาคม-กันยายนทำให้มีฝนตกตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 27.4 องศาเซลเซียส ส่วนช่วงเวลาที่อากาศเย็นสบาย จะอยู่ประมาณปลาย เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนธันวาคม

ทรัพยากรธรรมชาติ
    ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดตรัง แร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่ ดีบุก ฟลูออไรท์ และถ่านหินลิกไนท์ สำหรับทรัพยากรป่าไม้ที่สำคัญๆ เช่น เคี่ยม ยาง ตะเคียน หลุดพอ สามพอน ดำดง ตำเสา และตาเสือ เป็นต้น ทางด้านป่าชายเลนมีไม้โกงกาง ตะบูน ตาตุ่ม ปะสัก หลุดพอทะเล ฯลฯ นอกจากนี้ทางด้านชายฝั่งทะเลยังอุดมไปด้วยสัตว์ทะเลนานาชนิด และยังมีแหล่งรังนกนางแอ่นในท้องที่อำเภอสิเกา ซึ่งได้มีเอกชนขอสัมปทานเก็บในแต่ละปี

การประกอบอาชีพ
            ชาวตรังส่วนใหญ่มีอาชีพในการเกษตร การเกษตรที่สำคัญของชาวจังหวัดตรังคือการทำสวนยางพารา ส่วนอาชีพในการเพาะปลูกอื่นๆ รองลงไปคือการทำนา ทำสวนมะพร้าว สวนผลไม้ เช่น เงาะ ทุเรียน กาแฟ และในบางท้องที่ทำสวนพริกไทย สำหรับประชาชนที่อยู่แถบชายฝั่งทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียมีอาชีพการประมง

การศึกษา
    ประชาชนในจังหวัดส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา แต่ในปัจจุบันประชาชนได้มองเห็นความสำคัญในด้านการศึกษามากขึ้น โดยการส่งเสริมให้บุตรหลานของตนได้มีการศึกษาต่อในระดับมัธยม ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ตลอดจนถึงขั้นอุดมศึกษา และปรากฎว่าสถาบันการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมขึ้นไปมีที่เรียนไม่เพียงพอกับความต้องการของนักเรียนนักศึกษาในจังหวัด ทั่งๆ ที่ทางฝ่ายการศึกษาได้พยายามเพิ่มโรงเรียนและชั้นเรียนเพิ่มขึ้นๆ ในทุกๆ ปี และการที่มีที่เรียนไม่เพียงพอเป็นสาเหตุให้นักเรียนนักศึกษาส่วนหนึ่งต้องไปแสวงหาที่เรียนในจังหวัดอื่น และโดยเฉพาะที่กรุงเทพมหานคร

ศาสนา
            ประชาชนในจังหวัดส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาคือศาสนาอิสลาม และมีศาสนาและลัทธิอื่นๆ บ้าง เช่น ศาสนาคริสต์

การอพยพของประชากร
    จากสภาพภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยและทรัพยากรอันสมบูรณ์ของจังหวัด ทำให้ชาวจังหวัดตรังโดยทั่วๆ ไปมีฐานะความเป็นอยู่ดี ฉะนั้นปัญหาอพยพของประชากรในจังหวัดเพื่อไปหางานทำในท้องถิ่นอื่นจึงไม่มี แต่ในทางตรงข้าม ปรากฎว่าประชาชนจากท้องถิ่นอื่น เช่น จากจังหวัดใกล้เคียง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนจากจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อพยพเข้ามาหางานทำมีจำนวนมาก โดยการเป็นลูกจ้างในสวนยาง ลูกเรือประมง ลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม และอาชีพรับจ้างบริการทั่วไป ดังนั้นจังหวัดตรังจึงมีประชากรย้ายเข้ามามากกว่าการย้ายออก

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดนครศรีธรรมราช และกระบี่
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดสตูล
ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดพัทลุง
ทิศตะวันตก ติดกับทะเลอันดามัน


หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ

ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยว จังหวัดตรัง (ททท.) โทร. 0 7521 5867-8
สำนักงานจังหวัดตรัง โทร. 0 7521 8516, 0 7521 8960
สถานีตำรวจ โทร. 0 7521 8019, 0 7521 1311
โรงพยาบาลตรัง โทร. 0 7521 2241-3, 0 7521 8018
สถานีรถไฟ โทร. 0 7521 8012 แผนกจองตั๋ว โทร. 0 7521 3082
สถานีขนส่ง โทร. 0 7521 5718
ไปรษณีย์โทรเลข โทร. 0 7521 8521, 0 7521 8361,
0 7521 8021
บริษัท การบินไทย จำกัด โทร. 0 7521 8066, 0 7521 9923
สนามบิน โทร. 0 7521 0804
ท่าอากาศยานตรัง โทร. 0 7521 8224, 0 7521 1150
หอการค้าจังหวัดตรัง โทร. 0 7521 0238, 0 7522 5353
ประชาสัมพันธ์จังหวัดตรัง โทร. 0 7522 0232
ตรวจคนเข้าเมืองตรัง โทร. 0 7525 1030
ตำรวจน้ำตรัง โทร. 0 7525 1130
สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว โทร. 0 7521 5580
สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ภาคใต้
เขต 1
โทร. 0 7423 2230, 0 7422 0376

แผนที่จังหวัดตรัง

ทะเลตรัง

   ทะเลตรัง สวรรค์สำหรับคนรักทะเล ยังคงความสวยงามของธรรมชาติทางทะเลได้อย่างลงตัว

นับหลายร้อยปี ที่ทะเลตรัง ยังคงเก็บรักษาเอาไว้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ป่าปะการัง ฝูงปลา

นานาชนิด หมู่เกาะต่างๆ ที่เรียงรายอย่างสวยงาม เสน่ห์ทะเลตรังอยู่ที่น้ำทะเลสวยใสหาดทรายขาว

และเกาะน้อยใหญ่เรียงรายอยู่ไม่ไกลจากฝั่งเท่าใด

เกาะเชือก

 

เกาะเชือก ที่ได้ชื่อว่าเกาะเชือกเพราะรูปลักษณ์เหมือน
ขดเชือกสองขดเกาะเชือกมีลักษณะพิเศษ กระแสน้ำไหลแรง
ทำให้ มองเห็นได้ด้วยสายตาจากผิวน้ำ เกาะเชือกจึงกลาย
เป็นจุดดำน้ำแบบ Snorkelling หรือดำน้ำใส่ชูชีพที่สำคัญ
เพราะนักท่องเที่ยวสามารถลงไปมองเห็นดงปะการังอ่อน
ที่ยิ่งใหญ่ด้วยสายตาตนเองเพียงแต่ต้องระวังอันตรายจาก
กระแสน้ำไหลแรง พยายามเกาะเชือกที่ผูกไว้กับหิน ยังมีฝูง
ปลาทะเลสีสันสวยงามอีกมากมาย

 

เกาะไหง ไพลินแห่งอันดามัน

เกาะไหง / หมู่เกาะไหง อีกหนึ่งมนต์เสน่ห์แห่งอันดามันใต้

เปรียบเป็นเกาะในสองท้องทะเล อันได้แก่ ท้องทะเลลันตา

และท้องทะเลตรัง แวดล้อมด้วยเกาะเล็กๆซึ่งถือได้ว่า

เป็นเพชรเม็ดงามแห่งอันดามัน เป็นสถานที่ที่โดดเด่นในเรื่อง

การดำน้ำดูปะการังอ่อนและดอกไม้ทะเล รวมไปถึงเป็นแหล่งอาศัย

ของเหล่าฝูงปลาหลากหลายสีสันสวยงาม นักท่องเที่ยวใช้เวลา

ในการเดินทางจากเกาะลันตา ไปเกาะไหง เพียง 45 นาที

โดยเรือโดยสารลำใหญ่ เกาะไหงเป็นเกาะเล็กที่เงียบสงบและสวยงาม

 

ถ้ำมรกต บนเกาะมุก

 

อยู่ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ที่ซุ่มซ่อนความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติเอาไว้

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเที่ยว ถ้ำมรกต คือช่วงที่น้ำขึ้นเต็ม ที่ในแต่ละวัน เนื่องจากจะเห็นทะเลสาบสีมรกตงดงาม

และเวลาที่แสงจะลอดปากปล่องถ้ำมรกตลงมาคือระหว่างเวลา 10.00-14.00 น. การลอดถ้ำสามารถทำได้ตลอดเวลา

เดือนที่เหมาะสมในการท่องเที่ยวคือระหว่างเด ือนธันวาคม ถึงต้นเดือนพฤษภาคมคือ เวลาน้ำลงเพื่อมุดเข้าถ้ำมรกตได

 

 

ต้นไม้ประจำจังหวัด

ศรีตรัง

ศรีตรัง เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลจังหวัดตรัง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jacaranda obtusifolia Humb. & Bonpl.

วงศ์ : BIGNONIACEAE

ชื่อสามัญ : Green ebony , Jacaranda

ชื่ออื่น : แคฝอย

     ไม้ต้นขนาดเล็กผลัดใบ สูง 4 - 10 เมตร ทรงเรือนยอดโปร่ง เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อนปนเทา โตช้า ใบเป็นใบ ประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกตรงกันข้าม ใบย่อยขนาดเล็กมาก ปลายใบแหลม โคนใบมน ดอกสีม่วง ออกเป็นช่อแขนงขนาดใหญ่ตามปลายกิ่ง โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด มี 5 กลีบ เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ผลเป็นฝักแบนกว้าง 1 - 1.5 เซนติเมตร ยาว 2 - 2.5 เซนติเมตร เมื่อแก่แตกออกเป็น 2 ซีก เมล็ดแบนขนาดเล็กมีปีก

นิเวศวิทยา เป็นไม้ถิ่นอเมริกาใต้ ปลูกได้ดีในดินแทบทุกชนิด พระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้นำเข้ามาปลูก ที่จังหวัดตรัง

ออกดอก ธันวาคม - มีนาคม

ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด ต้นมีอายุ 4 - 6 ปี จึงจะออกดอก

ข้อสังเกตและผลการทดลอง 1. เมล็ดงอกใช้เวลาประมาณ 10 วัน
2. ภายในระยะเวลา 4 เดือน ต้นกล้าจะมีความสูงประมาณ 30 ซม. สามารถย้ายปลูกได้

ประโยชน์ : ปลูกเป็นไม้ประดับ